วันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ทำความรู้จัก "ทิม คุ๊ก" จากโนเนมสู่เบอร์หนึ่ง ซีอีโอแอปเปิลคนใหม่ผู้ก้าวพ้นเงา "สตีฟ จ็อบส์"


ถือเป็นข่าวช็อควงการครั้งใหญ่ในวงการไอทีของโลก ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่เหนือความคาดหมายของใครหลายคน เมื่อสตีฟ จ็อบส์ ซึ่งตอนนี้ดำรงตำแหน่งประธานแอปเปิล ประกาศผ่านจดหมายลาออกว่าเขาขอยุติบทบาทซีอีโอ อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสุขภาพ

จ็อบส์กล่าวในจดหมายแจ้งการลาออกว่า "ผมมักจะเคยกล่าวไว้เสมอว่า หากว่ามีวันที่ผมไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่และสนองตอบความความคาดหวังในฐานะของซีอีโอของแอปเปิลได้อีก ผมจะเป็นคนแรกที่แจ้งให้ทุกคนได้ทราบ แต่โชคร้ายที่วันนั้นมาถึงแล้ว"
เป็นธรรมดาที่สาวกของเขาจะรู้สึกวิตกกังวลเป็นธรรมดา เนื่องจากจ็อบส์มีส่วนอย่างมากในการผลักดันให้แอปเปิลก้าวขึ้นสู่บริษัทชั้นนำของโลก และชื่อสตีฟ จ็อบส์ กลายเป็นแบรนด์ที่รับประกันว่าลูกค้าจะไม่มีวันผิดหวังต่อสินค้าใหม่ๆที่ออกมาภายใต้ชื้อแอปเปิล

 สตีฟ จ็อบส์ในวัยหนุ่ม

ในปี 1976 สตีฟ จ็อบส์ในวัย 21 ปี กับสตีฟ วอซเนียก วัย 26 ปี ได้ก่อตั้งบริษัทแอปเปิล คอมพิวเตอร์ขึ้น ในโรงรถที่บ้านของครอบครัวจอบส์ เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่จอบส์กับวอซเนียกได้นำเสนอออกสู่สายตาได้แก่เครื่อง Apple I ในปี 1985 ภายหลังจากประสบปัญหาขัดแย้งเรื่องอำนาจภายในบริษัท จ็อบส์ถูกคณะกรรมการบริหารของแอปเปิลถอดออกจากภารกิจต่างๆที่เขาเป็นผู้รับผิดชอบ และได้ลาออกในที่สุด หลังจากออกจากแอปเปิล จอบส์ได้ก่อตั้งบริษัทคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ชื่อว่า "เน็กซ์" (NeXT)

ในปี 1996 แอปเปิลได้ซื้อกิจการบริษัทเน็กซ์ คอมพิวเตอร์ด้วยราคา 402ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อนำจอบส์กลับมาสู่บริษัทที่เขาก่อตั้งเอาไว้ ในปีค.ศ. 1997 เขาได้กลายเป็นผู้บริหารระดับสูง"ชั่วคราว"ของแอปเปิล ในช่วงที่กลับมาดำรงตำแหน่งผู้นำของแอปเปิล จ็อบส์เรียกชื่อตำแหน่งของเขาว่า "ไอซีอีโอ" (iCEO)

บริษัทสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างมากด้วยการเปิดตัว ไอแมค (iMac) ตามมาด้วยการเปิดตัวไอพ็อด เครื่องเล่นดนตรีขนาดพกพา ไอโฟน และไอแพดในเวลาต่อมา จ็อบส์ทำงานที่บริษัทแอปเปิลเป็นเวลาหลายปีติดกันด้วยค่าจ้างรายปีเพียง 1 ดอลลาร์สหรัฐ และนั่นทำให้เขาได้ถูกบันทึกไว้ในสถิติโลกในกินเนสส์บุ๊คว่า เป็นผู้บริหารระดับสูงที่ได้รับค่าจ้างต่ำที่สุดในโลก


"ทิม คุ๊ก" คือบุคคลที่จ็อบส์ไว้วางใจให้เป็นผู้กุมบังเหียน

เขาเป็นอดีตประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งถือเป็นฝ่ายที่ถือเป็นมันสมองและเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนแอปเปิลให้อยู่ในจุดสูงสุด ณ ปัจจุบัน

เชื่อว่าหลายคนอาจสงสัยว่า แล้วทิม คุ๊ก คือใคร มาจากไหน หรือมีดีอย่างไร ถึงได้ดำรงตำแหน่งซีอีโอใหม่แอปเปิล ซึ่งเราจะนำทุกท่านไปรู้จัก Tim Cook กัน

ทิม คุ๊ก มีชื่อเต็มว่า ทิโมธี ดี. คุ๊ก (Timothy D. Cook) เกิดเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 1960 ปัจจุบันอายุ 50 ปี เขาเติบโตที่เมืองโรเบิร์ตสเดล รัฐอลาบามา สหรัฐอเมริกา บิดาของเขาเป็นคนงานในอู่ต่อเรือ ขณะที่มารดาของเขาเป็นแม่บ้าน

คุ๊กจบการศึกษาปริญญาตรีสาขาวิศวอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยออเบิร์น ในปี 1982 และจบการศึกษาระดับปริญญาโท ในสาขาบริหารธุรกิจ จากฟูควา สคูล ออฟ บิสซิเนส มหาวิทยาลัยดุ๊ก ในปี 1988

ก่อนหน้าที่เขาจะมาร่วมงานกับแอปเปิล เขาดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการในแผนกตัวแทนจำหน่าย  ของบ.อินเทลลิเจนท์ อิเล็กทรอนิกส์ ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่าย Corporate Material ให้กับคอมแพค และรับผิดชอบในการจัดหาและจัดการด้านสินค้าคงคลังทั้งหมดของคอมแพค

ต่อมาจึงเข้าทำงานที่บริษัท ไอบีเอ็ม เป็นเวลานานถึง 12 ปี  ในแผนกธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายการปฏิบัติภารกิจภาคพื้นอเมริกาเหนือ

ก่อนที่จะถูกสตีฟ จ็อบส์ชวนมาทำงานที่แอปเปิล เมื่อเดือนมีนาคม 1998





โดยตำแหน่งแรกเมื่อเข้ามาทำงานที่แอปเปิลคือ รองประธานอาวุโสฝ่ายปฏิบัติการ จนกระทั่งปี 2000 จึงดำรงตำแหน่งรองประธานอาวุโสด้านปฏิบัติการทั่วโลก, การขาย,บริการ และการสนับสนุน ระหว่างปี 2002-2005 เขารับตำแหน่งรองประธานบริหารฝ่ายปฏิบัติการทั่วโลก, การขาย,บริการ และการสนับสนุน

และต่อมาในเดือนม.ค. 2007 ก็ขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ(COO) ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเคยดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวแทน สตีฟ จ็อบส์ มาแล้วเป็นเวลา 2 เดือน ในปี 2004 ในระหว่างที่จ็อบส์เข้ารักษาตัวหลังการผ่าตัดมะเร็งตับอ่อน  นอกจากนั้น คุ๊กยังถือเป็นหนึ่งในคณะกรรมการบริษัทของไนกี้อีกด้วย

ต่อมาในปี 2009 เขาดำรงตำแหน่งซีอีโอชั่วคราวแทน สตีฟ จ็อบส์อีกครั้ง เป็นเวลาหลายเดือน ระหว่างที่จ็อบส์ยื่นใบลาพักงานชั่วคราวเพื่อรับการปลูกถ่ายตับ

ในเดือนมกราคม 2011 คณะกรรมการบริษัทแอปเปิล อนุมัติให้จ็อบส์พักงานอีกครั้งเพื่อรักษาอาการป่วย ในระหว่างนั้น คุ๊กมีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านปฏิบัติการทั้งหมดของแอปเปิล ขณะที่จ็อบส์ ในฐานะซีอีโอ รับผิดชอบในการตัดสินใจสำคัญต่างๆของบริษัท

ผลงานเด่นของคุ๊กที่ผ่านมาคือ การปฏิรูประบบการผลิตที่ไร้ประสิทธิภาพ ด้วยการจัดระบบการควบคุมสินค้าคงคลังใหม่ทั้งหมด เพื่อลดค่าใช้จ่ายที่มีเกินกำลัง หลังจากปี 1997 แอปเปิลขาดทุนถึงหนึ่งพันล้านเหรียญ คุ๊กได้ทำการปิดโรงงานและคลังสินค้าหลายแห่ง ที่ดำเนินการแบบขาดทุน โดยเปลี่ยนไปจ้างโรงงานในเอเชียให้ผลิตและเก็บสินค้าเอง  ส่งผลให้แอปเปิลมีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสูง และมีกำไรขั้นต้นของสินค้าที่ดีขึ้นมาโดยตลอด



ทิม คุ๊ก เคยกล่าวไว้ว่า "การตัดสินใจร่วมงานกับ Apple เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิตของผม" ในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีรับปริญญา ณ มหาวิทยาลัยออเบิร์น ในฐานะศิษย์เก่าผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้ คุ๊กได้เล่าถึงการตัดสินใจร่วมงานกับแอปเปิลเมื่อ 13 ปีก่อนอีกว่า ด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 5 นาทีในการสัมภาษณ์งานกับจ็อบส์ ผมยอมเสี่ยง เขาอยากร่วมงานกับแอปเปิล แม้ว่าการทำงานกับแอปเปิลจะไม่เคยอยู่ในแผนชีวิตที่เขาเขียนไว้สมัยที่ยังเรียนปริญญาโทอยู่ก็ตาม

คุ๊กเชื่อในสัญชาตญาณของเขาว่า การร่วมงานกับแอปเปิลเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในชีวิต ที่จะได้ทำงานให้กับอัจฉริยะแห่งการสร้างสรรค์ อย่างสตีฟ จ็อบส์ และเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารที่สามารถฟื้นฟูบริษัทที่ดีที่สุดบริษัทหนึ่งของอเมริกา


แม้ว่าคนส่วนใหญ่ จะมองเขาว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่นั่นกลับไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากแอปเปิลเองมี โจนาธาน ไอว์ รองประธานอาวุโสฝ่ายออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นผู้รับผิดชอบในงานสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อยู่แล้ว

ส่วนเรื่องที่เขาเป็นผู้ที่มีความสุขกับการทำงานเบื้องหลังมากกว่าที่จะอยู่หน้าเวทีเหมือน จ็อบส์ ดังนั้น หน้าที่ของการแถลงข่าวหรือพบสื่อมวลชน สามารถให้ฟิล ชิลเลอร์ ซึ่งเป็นรองประธานฝ่ายการตลาดสามารถรับหน้าที่นั้นแทนได้


เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย:

- ทิม คุ๊กยังไม่แต่งงาน และได้ชื่อว่าเป็นคนบ้างาน โดยทุกๆวัน เขาจะเริ่มส่งอีเมล์ฉบับแรกตอนตีสี่ครึ่ง และทุกคืนวันอาทิตย์เขาจะโทรศัพท์หาทีมงานเพื่อเตรียมงานในอาทิตย์ถัดไปเสมอ

- คุ๊ก เป็นคนชอบออกกำลังกาย  อาทิ การปีนหน้าผา, ปั่นจักรยาน และเข้ายิมเพื่อออกกำลังกายเป็นประจำ เขาชื่นชอบแลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นจักรยานชาวอเมริกันเป็นพิเศษ

-แม้ว่าเขาจะมีรายได้ต่อปีมากถึง 700,000 เหรียญสหรัฐ (ประมาณ 21 ล้านบาท) เขาได้รับผลตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนในการเป็นซีโอโอคือ เงินโบนัส 5 ล้านดอลลาร์ และสิทธิในการซื้อหุ้นอีก 52.3 ล้านดอลลาร์   แต่เขาก็ยังเช่าบ้านอยู่ในย่านพาโล อัลโต้ รัฐแคลิฟอร์เนีย

 
เสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับทิม คุ๊ก:

"ทิมคือผู้ขับเคลื่อนแอปเปิล และเขาก็ขับเคลื่อนแอปเปิลมานานแล้ว สตีฟคือหน้าตาของแอปเปิล และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แต่ทิมคือบุคคลผู้รับผิดชอบด้านการออกแบบและเปลี่ยนมันให้กลายเป็นเงินจำนวนมหาศาล"
-ไมเคิล เจนส์ ผู้จัดการทั่วไปคนแรกของแอปเปิล ออนไลน์ สโตร์ จากนิตยสารไวร์ 41 ม.ค. 2009

"แม้ว่าเขาจะได้ชื่อว่าเป็นคนที่ร่าเริงสนุกสนาน และมุขตลกของเขาอาจจะดูฝืดไปหน่อย แต่ใบหน้าของเขากลับดูเหมือนคนที่บึ้งตึงตลอดเวลา  ในระหว่างที่มีการประชุม หลายคนทราบดีว่าเขาจะหยุดช่วงเวลาอันตึงเครียดได้ตอนไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเวลาที่เขากำลังฉีกซองขนมที่เขามักจะพกไว้กับตัวเสมอ"
-นิตยสารฟอร์จูน ฉบับ 10 พฤศจิกายน 2008

"เขาเฉลียวฉลาดอย่างร้ายกาจ และไม่มีอีโก้ใหญ่โต"-จอห์น แลนด์ฟอร์ซ อดีตผู้บริหารเครือข่ายร้านจำหน่ายคอมพิวเตอร์ซึ่งเคยร่วมงานกับคุ๊กบ่อยครั้ง, หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ฉบับวันที่ 16 ต.ค. 2006

"คุ๊กมีความเป็นผู้นำ เขาเป็นนักเรียนที่ดีมาก เป็นที่ชื่นชมของเพื่อร่วมชั้นเรียน เป็นคนที่มักจะเตรียมพร้อมเสมอ แข็งแกร่งแต่ยุติธรรม เราเชื่อว่าเขาจะต้องสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่จะทำนายว่าเขาอาจจะได้เป็นผู้นำของบริษัทชั้นนำระดับโลกก็ตาม"
-แบลร์ เชพเพิร์ต คณบดีฟูควา สคูล ออฟ บิสซิเนส มหาวิทยาลัยดุ๊ก, เว็บไซต์ The Street.com, 15 มกราคม 2009


อนาคตภายหน้าของแอปเปิลภายใต้เงาของทิม คุ๊ก จะออกมาเป็นหัวหรือก้อยคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไปพร้อมๆกับอาการป่วยของสตีฟ จ็อบส์ ตราบใดที่เขายังดำรงอยู่ในฐานะหนึ่งในตำนานของวงการคอมพิวเตอร์ของโลก




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น